พระบรมสารีริกธาตุ
- Details
- Created on 13 March 2012
- Written by Digi Lanna Temple Admin
- Hits: 1373
สำหรับในดินแดนภาคเหนือของไทย ความเชื่อเรื่องปีนักษัตรยังสัมพันธ์กับคติการบูชาพระบรมธาตุ ดังปรากฏเป็นประเพณีการชุธาตุหรือการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด โดยครั้งหนึ่งในชีวิตควรมีโอกาสเดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนเพื่อความเป็นสิริมงคล
คำว่า พระธาตุ มีความหมายสองนัยคือ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และสถานที่หรือพระเจดีย์ที่มีพระบรมธาตุบรรจุ โดยแต่ละแห่งจะมีตำนานที่เล่ามูลเหตุของการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งสัมพันธ์ กับการเสด็จโปรดสัตว์ของพระพุทธเจ้าในดินแดนต่างๆ สถานที่มีพระบรมธาตุเจดีย์เหล่านี้มักจะกลายเป็นเมืองสำคัญในเวลาต่อมา
ลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุ ที่บรรยายไว้ในตำนานมีลักษณะเหมือนถั่วแตก หรือข้าวสารหัก หรือเมล็ดพันธุ์ผักกาด กลมเกลี้ยงขนาดเท่าเม็ดพุทรา มีสีทองอุไร สีแก้วผลึก หรือแก้วมุกดา สีดอกพิกุล บางองค์มีรูทะลุได้
ตามปกติจะบรรจุพระบรมธาตุไว้ใต้ฐานเจดีย์ หรือเรือนธาตุ โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถนำออกมาได้ เว้นแต่พระธาตุศรีจอมทอง และนอกจากการบูชาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังมีการบูชาพระธาตุของพระอรหันต์หรือพระสาวกด้วย
การบูชาพระธาตุประจำปีเกิดสมัยโบราณมักจะบูชาพระบรมธาตุ ด้วยเครื่องหอมและข้าวตอกดอกไม้ ตามปกติแล้วจะสรงพระธาตุด้วยน้ำสะอาด อาจเจือด้วยน้ำหอม เนื่องจากองค์พระบรมธาตุส่วนใหญ่บรรจุอยู่ใต้ฐานพระเจดีย์ การสรงน้ำจึงกระทำโดยการราดน้ำไปบนองค์พระเจดีย์ พระธาตุบางองค์จะต้องใช้น้ำจากแหล่งพิเศษอย่างเช่นการสรงน้ำพระธาตุศรีจอมทอง ใช้น้ำแม่กลางเจือด้วยน้ำหอมหรือแก่นจันทร์ น้ำสรงที่ใช้กับองค์พระเจดีย์วัดพระธาตุดอยสุเทพก็ใช้น้ำพิเศษเช่นเดียวกับวัดพระธาตุศรีจอมทอง
คติการบูชาพระธาตุปีเกิดและตำนานที่เกี่ยวข้องสะท้อนถึงการแพร่กระจายของพุทธศาสนา ในดินแดนไทยมาแต่โบราณ นอกจากนี้การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ยังสัมพันธ์กับการเกิดชุมชนเมืองต่างๆ อันก่อให้เกิดคติความเชื่อและวัฒนธรรมร่วมกันของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในภาคเหนือของไทยที่มีกลุ่มชนมากมายอาศัยอยู่ โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์และสิ่งสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางแห่งจิตใจ
การเดินทางท่องเที่ยวไหว้พระธาตุปีเกิดมีความสะดวกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระธาตุส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ จึงสามารถจัดเส้นทางสำหรับไหว้พระธาตุในจังหวัดใกล้เคียงได้ เช่น เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง เชียงราย-น่าน-แพร่ เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้อิ่มใจในบุญกุศล แต่ยังมีอานิสงค์ได้ชมศิลปะและสถาปัตยกรรมอันงดงามของแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย
ในหนังสือของดีจากปั๊บสา (2543) พระธาตุประจำปีเกิด มีดังนี้
- ปีชวด บูชาพระธาตุศรีจอมทอง
- ปีฉลู บูชาพระธาตุลำปางหลวง
- ปีขาล บูชาพระธาตุช่อแฮ
- ปีเถาะ บูชาพระธาตุแช่แห้ง
- ปีมะโรง บูชาพระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์
- ปีมะเส็ง บูชาต้นโพธิ์ วันโพธารามมหาวิหาร
- ปีมะเมีย บูชาพระธาตุเจดีย์ชเวดากอง วัดพระบรมธาตุ
- ปีมะแม บูชาพระธาตุดอยสุเทพ
- ปีวอก บูชาพระธาตุพนม
- ปีระกา บูชาพระธาตุหริภุญชัย
- ปีจอ บูชาพระเกศแก้วจุฬามณี
- ปีกุน บูชาพระธาตุดอยตุง
คำกล่าวบูชาพระบรมสารีริกธาตุมีดังนี้
อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ ทูระโต
อะหัง วันทามิ สัพพะโส
คำนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพมี 5 บท ดังนี้
- บทที่ 1 คำนมัสการเฉพาะองค์พระธาตุ “สุวรรณเจติยัง เกชาวะระ มัตถะลุงคัง วะรัญญะ ธาตุง สุเทเวหิ สัพพบูชิตัง นะราเทเวหิ อะหัง วันทามิ ธาตุโย”
- บทที่ 2 คำนมัสการองค์พระธาตุด้านทิศตะวันออก “ปัญญาวะสมิง เยวะจันทิมา ทาวัยยะ”
- บทที่ 3 คำนมัสการองค์พระธาตุด้านทิศใต้ “ปิตะกะตะเย สาสะนิยา นิเกติ”
- บทที่ 4 คำนมัสการองค์พระธาตุด้านทิศตะวันตก “โมณะ ปะถะ มะวะลัง ปาปายะฌานัง อะระหัง สังฆะ โสปานัง”
- บทที่ 5 คำนมัสการองค์พระธาตุด้านทิศเหนือ “ปะถะมัง อุปัชฌัง คาหาเปตะวา ปัตตะจีวะรัง ยังยัง ฌาตังตัง สังฆมัชเฌ ปุจฉาสวานะ”
ที่มา : สำนักปฏิบัติธรรมศิริธรรม (ถ้ำชี) ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี